ThaiCDR

หลัก 7 ประการ แห่งการพิเคราะห์เหตุการณ์ตาย (CDD )


 

1.“ไม่ควรมีเด็กหรือคนวัยใดจะต้องตายหรือบาดเจ็บเพราะน้ำมือของมนุษย์”ฉะนั้นนอกจากการตายด้วยโรค (illness) แล้วการตายจากเหตุภายนอก(external causes) คือปัญหาที่จะต้องป้องกันและแก้ไขให้ใด้ เหตุภายนอกหมายถึงการตายจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ และ ความรุนแรง ซึ่งรวมทั้งการทำร้ายตนเอง การทำร้ายผู้อื่น เหตุเหล่านี้นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นผู้ก่อเหตุเองเกือบทั้งสิ้น (manmade diseases)

2. การทำ CDD ในที่นี้ นอกจากจะ ครอบคลุมเฉพาะเหตุภายนอก หรืออาจรวมทั้งโรคอันเป็นภัยสาธารณะเช่นโรคระบาดร้ายแรงจากการใช้อาวุธชีวภาพ เป็นต้น)

3. รากเหง้า (root causes)ของเหตุแห่งความตายในเด็กจากเหตุภายนอก พบว่าเกิดจากพฤติกรรมของเด็ก ระบบการคุ้มครองดูแล และ สิ่งแวดล้อม-ผลิตภัณฑ์รอบตัวเด็ก จึงจะต้องทำความเข้าใจในรากเหตุทั้งสามอย่างลึกซึ้ง

4. ปัจจัยอันนำมาสู่ความตาย มักเกิดจากจุดอ่อนของ ระบบการคุ้มครองดูแล และ สิ่งแวดล้อม- ผลิตภัณฑ์รอบตัวเด็ก ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรงทั้งจากนิยามสิทธิในพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและอนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก

5. สามรากเหตุแห่งความตายของเด็กนั้น(พฤติกรรมของเด็ก ระบบการคุ้มครองดูแล
และ สิ่งแวดล้อม-ผลิตภัณฑ์รอบตัวเด็ก) จะมีผู้รับผิดชอบเสมอ ทั้งระดับครอบครัว ชุมชน และระดับสังคม การกำจัดจุดอ่อนของผู้รับผิดชอบทั้งสามระดับนี้ คือกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การป้องกันแก้ไข มิให้เกิดเหตุซ้ำอีก

6.การพิเคราะห์หมายถึง การพินิจ พิจารณาอย่างใคร่ครวญ (careful consideration)
ดังนั้น การทำ CDD จะครอบคลุมทั้งการเก็บข้อมูลเชิงลึกของเหตุการณ์ตายในเด็กจากเหตุภายนอก และนำข้อมูลนั้นมาใคร่ครวญพินิจพิจารณาเพื่อหาแนวทางการป้องกัน โดยผู้เกี่ยวข้องหลายสาขา หรือที่เรียกว่ากลุ่มสหวิชาชีพ (multidisciplinary group)

7. กลุ่มสหวิชาชีพดังกล่าวนี้ จะต้องมุ่งเป้าไปที่การค้นหาจุดอ่อนทั้งสามรากเหตุ โดยมิได้เพื่อเอาผิดผู้ใดทั้งสิ้น แต่เพื่อหาแนวทางการป้องกันแก้ไข และหาผู้รับผิดชอบซึ่งจะต้องเป็นผู้ผลักดันแนวทางที่ถูกต้อง สู่การปฏิบัติที่เป็นจริงให้ได้

 


แชร์หน้านี้

©2020 ThaiCDR | ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็กและขับเคลื่อนการป้องกัน

ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก
X