ThaiCDR

Child Death Deliberation :CDD)คืออะไร?


การพิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก (Child Death Deliberation :CDD)คืออะไร

การพิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก (Child Death Deliberation :CDD) เป็นทั้งกลยุทธ์และเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้าใจถึงเหตุปัจจัยแห่งการตายของเด็กจากอุบัติเหตุและความรุนแรงอย่างเป็นระบบ อันจะนำไปสู่แนวทางของการป้องกันการเสียชีวิตของเด็กรายอื่นๆ ต่อไป

กระบวนการ CDD  หมายถึงการพิจารณาเหตุการตายในเด็กอย่างถ้วนถี่ ซึ่งเลือกพิจารณาข้อมูลการตายของเด็กจากเหตุภายนอก (external causes) หรือเหตุผิดธรรมชาติ (unnatural causes) โดยมีการทำงานแบบบูรณาการของหลากหลายวิชาชีพ (multidisciplinary) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของเด็ก ทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง

เช่น เจ้าหน้าที่ด้านกฎหมาย ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็ก  แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เป็นต้น  ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจขับเคลื่อนนโยบายและการปฏิบัติเพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำอย่างมีประสิทธิภาพและทรงพลัง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

CDD ได้ทดลองดำเนินการตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 2546 โดย คณะอนุกรรมการด้านเด็กเยาวชน และครอบครัว ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  ได้ร่วมกับ สำนักโรคไม่ติดต่อ( กรมควบคุมโรค ) ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ  โดยมีการพัฒนากระบวนการเก็บข้อมูลจากกรณีตัวอย่างแบบไม่กำหนดพื้นที่ และพัฒนาการพิเคราะห์ข้อมูลแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและส่วนกลางที่เกี่ยวข้องกับการตายของกรณีตัวอย่าง

ในปี 2549 กรุงเทพมหานคร ได้จัดตั้งโครงการบูรณาการเพื่อความปลอดภัยในเด็กภายใต้ชื่อโครงการ “กรุงเทพมหานครร่วมใจ ป้องกันอุบัติภัยในเด็ก” โดยศจ พญ เพ็ญศรี พิชัยสนิธ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ ในสมัยนั้น และต่อมาในปี 2550 ได้เล็งเห็นว่ากระบวนการ CDD จะนำไปสู่การขับเคลื่อนการทำงานได้ กรุงเทพมหานครจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการการพิเคราะห์เหตุการตายในเด็กขึ้น โดยมีกรรมการจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ คณะกรรมการมีหน้าที่พิจารณาข้อมูลการตายของเด็กและนำเสนอจุดอ่อนของระบบการคุ้มครองเด็กและระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การตายในเด็ก และนำเสนอต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานคร นับได้ว่ากรุงเทพมหานครเป็นองค์กรท้องถิ่นแรกที่ได้ดำเนินการ CDD โดยต่อมาได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการพิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก ภายใต้คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กรุงเทพมหานคร

คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดต่างๆสามารถใช้เครื่องมือนี้ เป็นเครื่องมือใหม่ชิ้นหนึ่งในการพัฒนากลไกการทำงานคุ้มครองเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ยังคงมีงานอีกมากในการคุ้มครองเด็ก การดำเนินงาน CDD จะช่วยให้ผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดูแลเด็กในพื้นที่ได้เข้าใจเหตุเลวร้ายที่สุดที่เกิดกับเด็กในพื้นที่ ตระหนักในปัจจัยที่นำไปสู่การตาย สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน และมุ่งมั่นป้องกันมิให้เกิดเหตุซ้ำอีก


แชร์หน้านี้

©2020 ThaiCDR | ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็กและขับเคลื่อนการป้องกัน

ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก
X