ThaiCDR

ที่มาและความสำคัญ


ความเป็นมา

อุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ เมื่อปี พ.ศ.2556 องค์การอนามัยโลกได้ระบุใน Global Status Report on Road Safety 2013 ว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 24,237 คน เฉลี่ย 38.1 คนต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั่วโลกคือ 18 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงติดอันดับ 3 ของโลก จากนั้นในปี พ.ศ.2560 องค์การอนามัยโลกได้ระบุอีกว่าประเทศไทยได้ขยับขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกที่มีผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุทางถนน ปีละ 26,000 คน หรือ 36.2 คนต่อประชากร 100,000 คนต่อปี

จากการศึกษาเรื่องแนวโน้มการเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนไทย (อายุแรกเกิดถึง 18 ปี) จากอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ พบว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง สาเหตุหลักมาจากรถจักรยานยนต์ ทั้งการขับขี่ก่อนวัยกฎหมายอนุญาต (15ปี) เมาแล้วขับ ขับเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย สอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุจากการใช้รถจักรยานยนต์มากที่สุดในโลก ประมาณ 5,500 รายต่อปี และช่วงอายุที่เสียชีวิตมากที่สุดคือเด็กและเยาวชนอายุ 10-19 ปี ในขณะที่กลุ่มเด็กเล็กอายุ 1-4 ปี มีแนวโน้มการเสียชีวิตจากการเดินถนนและการถูกรถชนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเป็นเมือง นอกจากนั้นพบว่ามีสัดส่วนการเสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล เช่น 7 วันอันตรายสงกรานต์ พบว่าเกือบร้อยละ 50 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการโดยสารรถยนต์ประเภทต่าง ๆ อีกร้อยละ 50 เกิดจากรถจักรยานยนต์

ในเหตุการณ์การเสียชีวิตของเด็กและเยาวชนจากอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละรายนั้น เมื่อทำการพิเคราะห์จะพบว่าทุกรายจะมีรากเหง้าของเหตุ (root causes) 3 ประการ คือ พฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ระบบการคุ้มครองดูแล  และสิ่งแวดล้อม-ผลิตภัณฑ์รอบตัว โดยเฉพาะการเสียชีวิตที่เป็นเหตุการณ์รุนแรง จะต้องมีจุดอ่อนอย่างมากของรากเหตุทั้งสามเสมอ หรืออาจมีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีจุดอ่อนทั้งสามรากเหตุประกอบกัน จุดอ่อนที่เกิดจากระบบการคุ้มครองดูแล และสิ่งแวดล้อม-ผลิตภัณฑ์รอบตัวเด็ก จนเป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนเสียชีวิต ถือเป็นการละเมิดสิทธิเด็กอย่างรุนแรง ทั้งจากนิยามสิทธิใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และในอนุสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งหากมีความเข้าใจในรากเหตุทั้งสามประการแล้ว จะสามารถจัดการให้เกิดการป้องกันการเสียชีวิตในเด็กและเยาวชนรายอื่น ๆ ได้


©2020 ThaiCDR | ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็กและขับเคลื่อนการป้องกัน

ศูนย์พิเคราะห์เหตุการตายในเด็ก
X